นายภีมากร นพฤทธิ์ (บ้านสวนบางหมาก) เกษตรกรหมู่ที่ 4 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เข้ารับการประเมิน เกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด สาขาไร่นาสวนผสม ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสมระดับจังหวัด ปี 2565 โดยภายในสวนมีการปลูกพืชแบบผสมผสานและใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อย่างลงตัว มีการปลูกผักเหมียงแซมในร่องยางพารา และปลูกผลไม้หลายชนิดในพื้นที่สวน มีกิจกรรมการผลิตอาหาร คือ มีการเลี้ยงสัตว์ปีก คือ ไก่ไข่ มีการปลูกข้าวไร่ การเลี้ยงผึ้งโพรง การผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง
แต่ละกิจกรรมมีผลผลิตที่นำมาเกื้อกูลกัน ทำให้ปริมาณผลผลิตโดยเฉลี่ยได้ที่รับอยู่ในมาตรฐาน และมีคุณภาพ มีการทำประมง โดยการเลี้ยงปลาในบ่อน้ำจืดหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาแรด ปลาหมอและปลากินพืชชนิดต่างๆ
การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในสวน
- การใช้ QR Code ติดตามต้นพืชแสดงข้อมูลของพืชที่ปลูก
- การจัดระบบน้ำในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีการสร้างฝายกั้นน้ำ
- มีการใช้น้ำหมักชีวภาพแทน “กรดฟอร์มิก” ในการผลิตเศษยาง (ขี้ยาง)
- การหมักน้ำหมักให้ไก่ไข่กิน เพื่อลดกลิ่นจากมูลไก่และทำให้ไข่แดงที่สีสวยขึ้น
- การป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพไล่แมลง
- มีการส่งตัวอย่างดิน เพื่อตรวจวิเคราะห์ดิน
- การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ไตรโคเดอร์มา และเมตาไรเซียมในการกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชภายในสวน
การใช้ประโยชน์เกื้อกูลกันภายในสวน
- นำน้ำจากบ่อปลาใช้รดพืชผักริมขอบบ่อ และพืชผักสวนครัว
- เลี้ยงเฉพาะปลาที่กินพืชโดยอาศัยพืชในสวนและ ริมขอบบ่อเป็นอาหาร
- มูลไก่จากคอกมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในสวนผลไม้
- การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ การปลูกสับปะรดแซมในร่องยางพาราที่ยังไม่เปิดกรีด
- การปลูกผักกูด ผักหนามในพื้นที่ลุ่ม ชุ่มน้ำ หรือบริเวณใกล้ลำห้วย
การดำรงชีวิตอยู่ของครอบครัวอยู่ดีมีความสุขด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักที่ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เมื่อเหลือจากการกินการใช้ในครัวเรือนจึงนำไปขายเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และชุมชนรอบข้าง การใช้แรงงานในสวนจะใช้แรงงานในครัวเรือนเนื่องจากจำนวนสมาชิกในครอบครัว คือ ตนเอง ภรรยา ลูกๆ สามารถดูแล รักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีการทำเกษตรอย่างมุ่งมั่น เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน และเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้น จึงมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนจนเป็นที่ยอมรับ และเปิดสวนเป็นจุดสาธิตเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นๆในชุมชน จนทุกวันนี้มีผู้สนใจมาศึกษาทั้งในหมู่บ้านและต่างอำเภอ เพื่อนำแนวทางการทำเกษตรไปปฏิบัติ
Leave a Reply